top of page

กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 เป็นมโนทัศน์ หรือแนวความคิด (Concept) ที่ทันสมัย และมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ในทางตรงกันข้าม กลับสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบ ถึงกับมีการร้องเรียนให้ยกเลิกมาเป็นระยะๆ จนถึงวันนี้ผมได้ข้อสรุปบทเรียนของเรื่องนี้ (ไม่ได้แตกต่างจากครั้งอื่นๆ) คือ“ผิดเวลา” “ไม่เข้าใจแนวคิดพื้นฐาน” และ “ยึดกรอบการปฏิบัติแบบเดิม” ไม่ได้สร้าง “ชานพัก (Platform)” เพื่อเป็นฐานความเข้าใจเพื่อก้าว “ข้าม” ไปสู่จุดใหม่ เหมือนเครื่องเล่น MP3 ของ Sony ที่ไม่ได้รับความนิยมสร้างกระแสการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการฟังเพลงของสังคม แต่ในทางกลับกัน iPod ของ Apple ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประเภทเดียวกันได้รับความนิยมไม่ใช่แค่รูปแบบที่สะดุดตาแต่เพราะมาพร้อมกับ iTunes ที่ให้บริการรูปแบบใหม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ “ผิดเวลา” ในที่นี้ ผมหมายถึงเวลาในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ การศึกษาวิจัยแนวคิดใหม่ๆ จำเป็นต้องทำล่วงหน้า แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องนำสู่การปฏิบัติทันที แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะจำเป็น โดยเฉพาะแนวคิดที่ต้องการ “พลิกมุมมอง (Disruption)” สร้างกระแสการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ (Transforming) การดำเนินงาน หรือกระบวนการ อย่างกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาฯ ผู้กำกับนโยบายจำเป็นต้องสื่อสารสร้างความเข้าใจแนวคิดพื้นฐานให้เกิดในวงกว้าง ก่อนลงมือปฏิบัติ (ถูกเวลา) โดยเฉพาะในแวดวงอุดมศึกษาไทย ซึ่งเป็นวงการ “อุดมวิชาการ” มากกว่า“อุดมศึกษา”

นวัตกรรมแนวคิดแบบกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายและมีเป้าประสงค์ปรับเปลี่ยนรูปแบบกระบวนการแบบพลิกมุมมองจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างฐานความเข้าใจเสมือนเป็น “ชานพัก (Platform)” รอเวลาที่จะก้าวข้ามไปสู่แนวคิดใหม่ๆ ถึงแม้ในแนวทางการนำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิฯ สู่การปฏิบัติ ได้มีการสร้างความเข้าใจสื่อสารผ่าน “รูปแบบวิธีการปฏิบัติ” ซึ่งไม่เพียงพอกับการสร้างความเข้าใจหลักการพื้นฐานที่แท้จริง กลับกลายเป็นความเข้าใจ “แนวทางปฏิบัติ” ที่ฝ่ายกำกับนโยบายคาดหวัง มีแต่ผลผลิต (Outputs) “งานเอกสาร” ประกอบด้วย “รายการ” ตามที่กำหนดในประกาศ ฯ ผมคิดว่าเป็นบทเรียนที่สามารถใช้เป็นเครื่องเตือนการอุดมศึกษาไทยว่า “การนำนวัตกรรมแนวคิดสู่การปฏิบัติควรสร้างนวัตกรรมการบริการไปด้วยพร้อมๆ กัน” เพราะในอนาคตการอุดมศึกษาไทยยังต้องมีการปรับเปลี่ยนอีกหลายมากมายหลายประเด็น

ผมคิดว่าถึงเวลาที่สถาบันอุดมศึกษาไทยควรเปิดใจกว้าง “มองข้าม” ข้อบกพร่องต่างๆ และปัญหาการดำเนินการตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติฯ เพราะไม่ว่าสถาบันอุดมศึกษาไทยจะเกาะกระแสการเปลี่ยนแปลงแนวคิดต่างๆเกี่ยวกับการพัฒนาบัณฑิต สำหรับศตวรรษที่ 21 เช่น กรอบการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21 (Framework for 21st Century Learning) ทักษะศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) ของ Organisation for Economic Cooperation and Development (OECD) เป็นต้น และหรือแนวคิดการประกัน หรือรับรอง คุณภาพการอุดมศึกษาใหม่ๆ ของสำนักต่างๆ เช่น Washinton Accord QAA ABET AACSB AUNQA เป็นต้น สถาบันอุดมศึกษาไทยต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบกระบวนการการอุดมศึกษาในลักษณะที่คล้ายหรือเหมือนกับการปฏิบัติตามแนวคิดของกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 อย่างแน่นอน (จากประสพการณ์และการศึกษาของผมที่ผ่านมามากกว่า 10 ปี)

เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไมสถาบันอุดมศึกษาไทยไม่ลองทำความเข้าใจมโนทัศน์ที่ถูกต้องของกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 เพื่อพัฒนาต่อยอด หรือปรับปรุงข้อบกพร่องต่างๆ สู่การพัฒนาคุณภาพการอุดมศึกษาไทยให้ยั่งยืนต่อไป

My 2 Satangs:
มโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ “กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ                            (Thailand Qualification Framework for Higher Education)”

กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา: “หน้าตา” ปัญญาชนอุดมศึกษาไทย สำหรับศตวรรษที่ 21

 

ผมว่าอุดมศึกษาไทย “เรียนครบ” และ “สอบผ่าน” จะเป็น “บัณฑิตทุกคน” (คิดดีๆ นะครับก่อนที่จะคัดค้าน) แต่ถ้าผมตั้งคำถามกับประชาคมอุดมศึกษาไทยว่า “บัณฑิต”อุดมศึกษาไทยที่ผลิตกันในปัจจุบันมีความสามารถและหรือคุณสมบัติ “สมควร” ได้รับปริญญา ทุกคนหรือไม่ คำตอบคงมีทั้งสองแบบ แล้วแต่ “มุมมอง” ของแต่ละบุคคลว่า “ความสามารถ” และหรือ “คุณสมบัติ” นั้นๆ คืออะไร แม้แต่สังคมอุดมศึกษาไทยยังกังขากับ “บัณฑิต” ที่ผลิต แล้วจะทำให้สังคมไทย “แน่ใจ” และหรือ “มั่นใจ” ได้อย่างไรว่า อุดมศึกษาไทยบ่มเพาะบัณฑิตได้ “มาตรฐาน” ซึ่งผมคิดเองว่า “คำถาม” ข้างต้นเป็นแนวคิดพื้นฐานของ “กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ” เมื่อสิบห้าปีที่แล้วเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาไทยมีเกณฑ์มาตรฐานพื้นฐาน (Threshold) บัณฑิตที่ “เทียบเคียง” กัน แต่ “ไม่เหมือนกัน” คล้ายกับว่าทำไมเราจึงเรียก “โทรทัศน์” แต่ “โทรทัศน์” แต่ละยี่ห้อไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติเหมือนกัน


กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 (Thailand Qualification Framework for Higher Education) หรือ “มคอ.” หรือ “TQF” เป็นเกณฑ์มาตรฐาน “พื้นฐาน (Threshold)” การผลิตบัณฑิตของการอุดมศึกษาไทย โดยกำหนดเป็น “กรอบแนวคิด (Framework)” ดังนี้

ผู้ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยทุกคนในทุกศาสตร์สาขาวิชาต้องมีข้อกำหนดจำเพาะ (Specification) พื้นฐาน (Threshold) ที่เป็นผลการเรียนรู้อย่างน้อย 5 ด้าน คือด้าน
(1) คุณธรรม จริยธรรม
(2) ความรู้
(3) ทักษะทางปัญญา
(4) ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ และ
(5) ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
 
จึงสมควรเรียกว่า “บัณฑิต” “มหาบัณฑิต” และ “ดุษฎีบัณฑิต”
bottom of page